เข้ามาถึงความจริงของสายวิชาธรรมกาย วิชาพื้นฐานของสายวิชาธรรมกายคือ วิชชา 18 กาย
กล่าวคือ ในมนุษย์แต่ละคนนั้น นอกจากกายเนื้อซึ่งสามารถสัมผัสด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้แล้ว ยังมีกายอื่นๆ อีก 17 กายอยู่ภายใน ซึ่งไม่สามารถสัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5
ต้องปฏิบัติธรรมจนสามารถเข้าถึงกายภายใน แล้วใช้ตาของกายภายในเหล่านั้นดูกาย 17 กายดังกล่าว [3]
กายข้างในทั้ง 17 กายนั้น ถ้าเป็นกายมนุษย์ละเอียด/กายฝัน กายทิพย์ กายรูปพรหม และกายอรูปพรหมจะมีรูปร่างเหมือนกายเนื้อแต่ใส แต่งตัวคล้ายๆ ตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ [4]
แต่พอถึงกายธรรมโคตรภู กายธรรมพระโสดา กายธรรมพระสกิทาคามี กายธรรมพระอนาคามี และกายธรรมพระอรหัต ก็จะมีรูปร่างคล้ายพระพุทธรูป แต่เกศเป็นดอกบัวตูม
รูปร่างของกายต่างๆ เหล่านั้น คือ ลักษณะที่เป็นสากลของวิชาธรรมกาย แต่กายต่างๆ เหล่านั้นของแต่ละคนจะแตกต่างกันที่ขนาดและความสว่างใส
ยกตัวอย่างกายธรรมพระอรหัตก็แล้วกัน กายธรรมพระอรหัตนี้จะกว้าง 20 วาและสูง 20 วา บางคนอาจจะถามว่า วาของใคร?
คำตอบก็คือ วาของเจ้าของ วาใครก็วามัน ดังนั้น จะเห็นว่า กายธรรมพระอรหัตของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน เพราะ วาของเราแต่ละคนไม่เท่ากัน ไอ้ที่เท่ากันจริงๆ คงมีน้อยมาก
นอกจากนั้นแล้ว ความสว่างใสของกายธรรมพระอรหัตก็จะแตกต่างกันไป แล้วแต่บุญบารมี คนที่ทำความดีมาก บารมีมาก กายธรรมพระอรหัตก็จะใสมากตามขึ้นไปด้วย
มีวิทยากรบางคน เป็นวิชาธรรมกายแล้ว แต่ยังไม่เห็นกายธรรมพระอรหัต[5] จึงถามหลานตัวเอง ซึ่งได้สอนจนเห็นกายธรรมพระอรหัตแล้วว่า "กายธรรมพระอรหัตใสขนาดไหน"
หลานของวิทยากรผู้นั้น ก็ตอบได้อย่างเฉียบขาดว่า "ไม่รู้จะเทียบกับอะไร เพราะ เอดิสันไม่ได้ทำหลอดที่สว่างขนาดนี้ไว้"
คนที่ไม่เคยเห็นกายภายใน ผมเองก็ไม่รู้จะอธิบายอย่างไรให้เข้าใจได้ แต่อธิบายได้อย่างคร่าวๆ ว่า ความใสสว่างของกายธรรมนั้น ไม่สว่างอย่างดวงอาทิตย์ เพราะ ดวงอาทิตย์ สว่างแบบแสบตา และร้อนด้วย
แต่ความใสสว่างของกายธรรมพระอรหัตนั้น สว่างแบบเย็นตา และร่างกายที่จะรู้สึกโปร่งโล่งสบาย และสว่างได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด พูดให้จ๊าบหน่อยก็ว่า "สว่างแบบอินฟินีตี้" ว่างั้น
คนที่เคยเห็นกายธรรมภายในกาย จะเข้าใจว่า ความสุขที่เกิดจากความสงบนั้นเป็นอย่างไร นี่แหละคือ ตัวอย่างที่ดีของปัจจัตตังในศาสนาพุทธ
จะเห็นได้ว่า ความจริงของวิชชาธรรมกายนั้น มีความเป็นสากลคือ ในกรณีของกายธรรมจะมีรูปร่างเช่นเดียวกัน และมีขนาดเท่ากันในแต่ละกาย แต่ในเมื่อผู้ปฏิบัติธรรมเจ้าของกายเนื้อทั้งหลายมีขนาดของวาไม่เท่ากัน
ดังนั้น กายธรรมของแต่ละคนจึงไม่เท่ากัน นอกจากนั้น ความใสของกายธรรมต่างๆ ก็จะไม่เท่ากันด้วย ขึ้นอยู่กับบารมีของแต่ละคน
โดยสรุป
จะเห็นว่า ความจริงของวิชชาธรรมกายกับความจริงของไอน์สไตน์สอดคล้องกัน คือ มีความเป็นสากลอยู่ แต่ความสากลนั้น แต่ละคนจะรับรู้ไม่เหมือนกัน คือ มีความแตกต่างกัน
พูดให้เท่ห์ๆ หน่อยก็คือ ความจริงของวิชาธรรมกายกับความจริงของไอน์สไตน์ เป็น"ความจริงสากลที่แตกต่างกัน" เท่ห์ซะไม่มี
สำหรับความจริงของนิวตันนั้น ลดลงมาเป็นเพียงความจริงบางส่วนของไอน์สไตน์เท่านั้น
-------------------------------------------
เชิงอรรถ
[3] ตรงนี้ขอพาดพิงไปยังผลของการปฏิบัติธรรมของลูกศิษย์สายพอง-ยุบบางคน ซึ่งปฏิบัติธรรมแล้ว กายมนุษย์ละเอียดแยกตัวออกมาจากกายเนื้อได้โดยบังเอิญ ทำให้เข้าใจผิดไปว่า กายกับจิตแยกออกจากกันได้ เพราะ ตัวของท่านผู้นั้นเห็นกายเนื้อยังนั่งสมาธิอยู่
อันที่จริงแล้ว กายมนุษย์ละเอียดท่านหลุดออกมา กายมนุษย์ละเอียดก็มีหู ตา จมูก ลิ้น กาย และใจเหมือนกันกายเนื้อเช่นเดียวกัน ไม่ใช่หลุดออกมาแต่ใจ/จิต/วิญญาณ ที่ท่านเห็นกายเนื้อ ไม่ใช่ว่าดวงวิญญาณ (ที่ท่านเข้าใจผิด) เห็น แต่ใช้ตาของกายมนุษย์ละเอียดมองดู
ที่ว่าเป็นการเห็นโดยบังเอิญก็เพราะ สายพอง-ยุบไม่มีคำสอนเรื่องนี้ แต่สายวิชชาธรรมกายมีคำสอนเรื่องนี้อยู่ แต่ทำให้กายมนุษย์ละเอียดออกมาจากกายเนื้อ วิชชาธรรมกายทำได้ง่ายมาก อยากไปเที่ยวไหนในโลกก็เอากายมนุษย์ละเอียดไปเที่ยว ไม่ต้องเสียค่าน้ำมันด้วย
ขอพาดพิงเพิ่มเติมอีกนิดหนึ่ง ลูกศิษย์คนนี้ของสายพอง-ยุบ เคยเห็นเหรียญของหลวงพ่อเงิน แล้วเห็นกายของหลวงพ่อเงินอยู่ในเหรียญ ท่านก็เข้าใจผิดว่า ตาของกายเนื้อของท่านเห็นหลวงพ่อเงินในเหรียญ จริงๆ แล้วไม่ใช่ ตาของกายเนื้อเห็นสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้ เป็นตาของกายมนุษย์ละเอียด แต่ท่านไม่ได้เรียนวิชชาธรรมกาย ท่านก็เลยไม่เข้าใจ น่าเสียดายเหมือนกัน...
[4] เรื่องรามเกียรติ์นี้เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นว่า คนไทยสมัยโบราณเคยเห็นกายภายในของคนเรา รามเกียรติ์เรารับมาจากอินเดียแน่นอน ไม่ใช่ศาสนาพุทธแต่เป็นทางด้านวรรณคดี คนสมัยเก่าๆ ที่เห็นกายภายในของคน ได้ดัดแปลงเอาเครื่องแต่งกายของกายภายในไปให้ตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์แต่ง ไม่เช่นนั้น จะเอาลักษณะเครื่องแต่งกายที่ว่านี้มาจากไหน
อีกอย่างคือ เรื่องจักรพรรดิ หรือพระทรงเครื่องของพุทธวิชาการที่ไม่รู้เรื่อง คือ มีพระพุทธรูปอยู่แบบหนึ่ง แต่งกายทรงเครื่อง ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือ พระแก้วมรกต เรื่องนี้ทางอินเดียกับลังกาไม่มี พอพระทางอินเดียกับลังกามาถาม พุทธวิชาการก็ตอบว่า เป็นพระทรงเครื่อง โดยเป็นการเดาเอา อย่างไม่มีหลักวิชาการ
อันที่จริงแล้วเป็นจักรพรรดิ ในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย รวมถึงกายในพระประธานของโบสถ์ต่างๆ เป็นจักรพรรดิทั้งสิ้น สนใจก็หาหนังสือของวิชชาธรรมกายอ่านเอาเอง
[5] มีผู้เข้าใจผิดในวิชชาธรรมกายเป็นจำนวนมาก คิดว่า วิชชาธรรมกายสอนใช้ระยะเวลาสั้นๆ คนก็บรรลุพระอรหันต์แล้ว จริงๆ แล้วไม่ใช่ กายธรรมขนาด 20 วา นี่คือ กายธรรมพระอรหัต ไม่ใช่กายธรรมพระอรหันต์
พุทธวิชาการท่านใดที่เอ่ยชื่อกายธรรมพระอรหัตเป็นกายธรรมพระอรหันต์ก็แสดงว่า มีความรู้ทางวิชชาธรรมกายน้อยมาก ส่วนใหญ่พวกนี้ชอบโจมตีวิชชาธรรมกาย
พระบางรูปโจมตีเลยเถิดไปว่า คนได้อรหันต์จากวิชาธรรมกายเลิกฝึกแล้ว ยังไปดื่มเหล้าได้
ก็เป็นการฝึกชั่วคราว ที่เห็นแค่กายธรรมพระอรหัต กิเลสลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น พอเลิกฝึกแล้ว ก็สามารถไปทำความชั่วอื่นๆ ได้ เพราะ ยังไม่บรรลุพระอริยบุคคลเบื้องต้น
............................................................